Poor Laws (-)

กฎหมายสงเคราะห์คนจน (-)

กฎหมายสงเคราะห์คนจน หมายถึง กฎหมายฉบับต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ผู้ยากไร้ในสังคม อังกฤษซึ่งเริ่มจากพระราชบัญญัติสงเคราะห์คนจน ค.ศ. ๑๖๐๑ (Poor Law Act of 1601) ที่ประกาศใช้ในรัชสมัยสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบทที่ ๑ (Elizabeth I ค.ศ. ๑๕๕๘-๑๖๐๓) เป็นต้นมาจนถึงกลางคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ ในระยะแรกถือเป็นมาตรการทางสังคมของรัฐซึ่งออกมาเพื่อการสอดส่องควบคุมพลเมืองให้อยู่กับถิ่นฐานเป็นสำคัญการจัดการหรือการบังคับใช้กฎหมายแตกต่างกันไปตามตำบลหรือท้องถิ่นต่าง ๆ โดยมีตั้งแต่เข้มงวดมากจนถึงเอื้อเฟื้อจนเกินพอดีต่อผู้มาขอพึ่งทางการ เมื่อค่าใช้จ่ายเพื่อการนี้ที่ได้จากการเรียกเก็บภาษีเพื่อคนจน (poor rates) จากคนในท้องถิ่นที่ถือครองทรัพย์สินสูงขึ้นเรื่อย ๆ ใน ค.ศ. ๑๘๓๔ จึงมีการออกกฎหมายจัดระบบการช่วยเหลือคนยากจนใหม่ซึ่งยึดแนวทางการให้ประชาชนช่วยเหลือตนเองและครอบครัวมากกว่าการคอยพึ่งพารัฐ จึงเป็นที่มาของการนิยมเรียกบรรดากฎหมายที่ออกก่อนและหลัง ค.ศ. ๑๘๓๔ อย่างไม่เป็นทางการว่า กฎหมายสงเคราะห์คนจนฉบับเก่า (Old Poor Law) และกฎหมายสงเคราะห์คนจนฉบับใหม่ (New Poor Law) ตามลำดับ ในต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ กฎหมายสงเคราะห์คนจนค่อย ๆ ถูกแทนที่ด้วยระบบรัฐสวัสดิการ (welfare state) จึงเท่ากับเป็นการยกสถานภาพของคนจนว่าไม่ใช่คนอนาถา (pauper) ตามที่กฎหมายสงเคราะห์คนจนระบุ

 กฎหมายสงเคราะห์คนจนเริ่มขึ้นอย่างชัดเจนจากการรวบรวมกฎหมายเกี่ยวกับคนจนที่มีมาตั้งแต่ยุคกลางและออกเป็นกฎหมายสงเคราะห์คนจนใน ค.ศ. ๑๖๐๑ หรือที่เรียกกันว่า เอลิซาเบท ๔๓ (43ʳᵈ Elizabeth) เพราะเป็นกฎหมายที่ออกในปีที่ ๔๓ ในรัชสมัยสมเด็จพระราชินีนาถ เอลิซาเบทที่ ๑ โดยมีจุดประสงค์หลักเพื่อสกัดกั้นการร่อนเร่ ขอทานของพลเมืองซึ่งจะทำให้รัฐประสบความยากลำบากในการแยกแยะระหว่างคนจนกับผู้ก่อความปั่นป่วนในสังคมคณะผู้บริหารตำบล (parish overseers) เป็นผู้จัดเก็บภาษีสงเคราะห์คนจนจากประชาชนในท้องที่ตนโดยอัตราการเก็บขึ้นกับจำนวนทรัพย์สินที่แต่ละคนถือครอง เงินที่ได้นั้นนำไปช่วยคนจนในเขตซึ่งแบ่งออกเป็น ๓ กลุ่มใหญ่ คือ เด็ก ผู้ใหญ่ร่างกายปรกติ (able-bodied adults) และคนสูงอายุหรือคนที่ไร้ความสามารถ (non-able-bodied; impotent) โดยหลักการนั้น คณะผู้บริหารตำบลจะจัดหางานให้ผู้ตกยากทำ แต่ตั้งแต่ ค.ศ. ๑๗๐๐ มีการสร้างหรือจัดหาบ้านสงเคราะห์ (workhouse) ซึ่งเป็นทั้งที่ฝึกงานและที่พักอาศัยขึ้นในตำบลนั้น ๆ เพื่อให้คนจนทำงานเลี้ยงชีพและมีที่พักพิงซึ่งเรียกว่า การบรรเทาทุกข์ประเภทภายในอาคาร (indoor relief) สำหรับเด็กก็ส่งไปเป็นลูกมือฝึกงาน ส่วนคนสูงวัยหรือไร้ความสามารถมักจะได้รับเงินสดหรือเครื่องอุปโภคบริโภคพอประทังชีพ อย่างไรก็ดี การช่วยเหลือแตกต่างไปตามแต่ละท้องที่ บางตำบลมีการซื้อหรือสร้างกระท่อมให้คนจนอยู่อาศัย ตำบลเล็ก ๆ ที่ไม่มีบ้านสงเคราะห์ให้ผู้ยากไร้อาจให้ความช่วยเหลือเป็นเงินหรือสิ่งของ นอกจากนี้ ตำบลเล็ก ๆ บางแห่งได้รวมกันเข้าเป็นยูเนียน (union) และร่วมกันสร้างบ้านสงเคราะห์สำหรับคนจนซึ่งคนปรกติ คนแก่ เด็ก คนป่วย และคนสติไม่สมประกอบพักอยู่รวมกันคนที่เข้าอาศัยจะต้องใส่เครื่องแบบของบ้านสงเคราะห์นั้น ๆ และมีสถานะเป็นผู้อนาถาซึ่งจะไม่มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งใด ๆ

 การให้ความช่วยเหลือทำให้คนไม่ต้องเดินทางร่อนเร่ไปขอความช่วยเหลือในการยังชีพ เพราะพระราชบัญญัติภูมิลำเนา ค.ศ. ๑๖๖๒ (Act of Settlement of 1662) หรืออีกชื่อหนึ่งว่าพระราชบัญญัติบรรเทาทุกข์คนจน ค.ศ. ๑๖๖๒ (Poor Relief Act 1662) กำหนดให้เจ้าหน้าที่ตำบลให้การสงเคราะห์แก่ผู้ที่เกิดหรือได้อยู่อาศัยในตำบลนั้น ๆ มาแล้วกว่า ๓๖๔ วัน โดยพิจารณาจากหลักฐานการเกิด การสมรส หรือการฝึกงาน ดังนั้น ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือจากรัฐจะต้องเดินทางกลับไปยังภูมิลำเนาเดิมของตน กฎหมายนี้จึงทำให้การเคลื่อนย้ายแรงงานน้อยลงแต่ก็ทำให้คนยากไร้ไม่คิดจะดิ้นรนออกไปหางานทำให้ได้ทั้งกลายเป็นมาตรการไม่สนับสนุนการว่าจ้างงานระยะสั้น ๆ ด้วย เพราะคนจนจะสามารถขอความช่วยเหลือจากรัฐได้เมื่ออยู่ในถิ่นฐานใดเกิน ๑ ปี ผู้ร้องขอการสงเคราะห์ที่เป็นหญิงมีครรภ์มักจะถูกส่งตัวกลับไปยังถิ่นที่เกิดเพื่อไม่ให้คลอดลูกออกมาเป็นภาระให้แก่ตำบลที่มาอาศัยอยู่

 กฎหมายรุ่นแรก ๆ ออกมาในสมัยที่ประชากรอังกฤษยังมีจำนวนไม่มาก ดังนั้น ผู้บริหารตำบลจึงรู้จักและสามารถแยกแยะได้ว่าผู้มาขอพึ่งรัฐเป็นคนจนที่สมควรได้รับความช่วยเหลือ (deserving poor) หรือคนจนที่ไม่สมควรช่วยเหลือ (undeserving poor) แต่นับแต่ ค.ศ. ๑๗๕๐ ระบบการช่วยเหลือต้องปรับให้เข้ากับจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น การโยกย้ายถิ่นมีมากขึ้นและการที่ราคาสินค้าแตกต่างกันไปตามภูมิภาค ยิ่งเมื่อภาวะตกงานและค่าแรงตํ่าขยายวงกว้างมากในปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๘ ทำให้มีการสงเคราะห์โดยคนจนไม่ต้องเข้ามาทำงานที่บ้านสงเคราะห์ เรียกว่า การบรรเทาทุกข์ประเภทภายนอกอาคาร (outdoor relief) เป็นส่วนใหญ่ในปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๘ ความยากจน ในเขตเกษตรกรรมทางภาคใต้ของประเทศเพิ่มมากขึ้น ใน ค.ศ. ๑๗๘๒ ทอมัส กิลเบิร์ต (Thomas Gilbert) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประสบความสำเร็จในการให้สภาผ่านกฎหมายให้มีการสร้างโรงเรือนให้คนจนที่เป็นคนชราและทุพพลภาพพักอาศัย และจัดหางานหรือให้ความช่วยเหลือนอกโรงเรือนแก่คนที่ร่างกายสมบูรณ์แต่ต้องการความช่วยเหลือ กฎหมายนี้ได้พัฒนาสู่ระบบสปีนแฮมแลนด์ (Speenhamland system) ที่ช่วยค่าครองชีพแก่ผู้มีรายได้น้อยซึ่งเกิดจาก เจ้าหน้าที่ในเมืองสปีนแฮมแลนด์ (Speenhamland) มณฑลเบิร์กเชียร์ (Berkshire) คิดหาวิธีที่จะเพิ่มค่าครองชีพให้แก่คนจนในรูปเงินสดจึงเกิดระบบสปีนแฮมแลนด์ขึ้นซึ่งได้เข้าไปเสริมระบบการสงเคราะห์โดยให้เงินช่วยเหลือค่าครองชีพแก่คนงานที่ได้รับค่าแรงตํ่ากว่าระดับยังชีพ ปรากฏว่าเขตอื่น ๆ ของอังกฤษในภาคใต้และภาคตะวันออกได้นำระบบนี้ไปใช้ด้วย ทำให้การสงเคราะห์แบบอยู่นอกอาคารเป็นลักษณะที่ปฏิบัติโดยทั่วไปตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๘ จนต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ อย่างไรก็ดี ระบบนี้เอื้อให้นายจ้างที่เห็นแก่ประโยชน์ตนฉวยโอกาสจ่ายค่าแรงคนงานตํ่าเพื่อบีบบังคับให้คนงานไปขอความช่วยเหลือเพิ่มเติมจากรัฐ ปรากฏว่าผู้บริหารตำบลหลายรายซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวนาฐานะดีที่จ้างแรงงานทำไร่ก็หาประโยชน์จากวิธีนี้เช่นกัน นอกจากนี้ ใน ค.ศ. ๑๗๙๕ มีการออกพระราชบัญญัติิการให้ออกจากท้องที่ (Removal Act of 1795) ซึ่งแก้ไขกฎหมายภูมิลำเนา ค.ศ. ๑๖๖๒ ทำให้ผู้ที่ไม่มีภูมิลำเนาในตำบลนั้น ๆ ไม่ต้องถูกบังคับให้ออกไปจากท้องที่ถ้าผู้นั้นไม่ได้ยื่นขอการสงเคราะห์จากรัฐ

 ระหว่างสงครามนโปเลียน (Napoleonic Wars)* การนำเข้าข้าวราคาถูกจากนอกประเทศทำไม่ได้ ทำให้ราคาธัญพืชและขนมปังสูงขึ้น เมื่อค่าจ้างแรงงานยังคงที่ คนงานในไร่นาจึงถูกผลักเข้าสู่วงจรแห่งความยากจน เมื่อสงครามยุติรัฐบาลรอเบิร์ต แบงส์ เจงกินสัน เอิร์ลแห่งลิเวอร์พูลที่ ๒ (Robert Banks Jenkinson, 2ᶰᵈ Earl of Liverpool)* กลับออกกฎหมายข้าว (Corn Law)* ใน ค.ศ. ๑๘๑๕ ซึ่งตั้งกำแพงภาษีกีดกันข้าวจากนอกประเทศเพื่อพยุงราคาข้าวในประเทศไว้ไม่ให้ถูกตีตลาด นับเป็นประโยชน์ต่อกลุ่มขุนนางเจ้าที่ดินซึ่งมีจำนวนมากในรัฐสภา ขณะเดียวกันก็เกิดภาวะตกตํ่าทั้งในเขตเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมและภาวะไม่มีงานทำสูง ทำให้งบประมาณของรัฐเพื่อการสงเคราะห์คนจนมีแต่สูงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ การปฏิวัติอุตสาหกรรม (Industrial Revolution)* แม้จะทำให้อังกฤษมั่งคั่งขึ้นก็ตามแต่อัตราการตายที่ลดลงและประชากรที่เพิ่มขึ้นทำให้ทอมัส มัลทัส (Thomas Malthus)* นักเศรษฐศาสตร์ประชากรศาสตร์เคยเตือนผู้คนว่า จำนวนคนจนที่พึ่งรัฐมากขึ้นจะทำให้เกิดทุพภิกขภัยไปทั่วและจะก่อให้เกิดความหายนะต่อส่วนรวมในที่สุด โดยเขียนในหนังสือ Principles of Population (ค.ศ. ๑๗๙๘) เสนอให้ควบคุมการเพิ่มของประชากร ซึ่งวิธีหนึ่งก็คือการลดการช่วยเหลือคนยากจนในสังคม

 ใน ค.ศ. ๑๘๓๒ ชาลส์ เกรย์ เอิร์ลเกรย์ที่ ๒ (Charles Grey, 2ᶰᵈ Earl Grey)* นายกรัฐมนตรีได้แต่งตั้งคณะกรรมาธิการสำรวจการดำเนินงานของกฎหมายสงเคราะห์คนจน (Royal Commission into the Operation of the Poor Laws) ขึ้น หลังจากการเกิดเหตุการณ์การจลาจลสวิง (Swing Riots) ซึ่งเป็นการก่อความไม่สงบในเขตเกษตรกรรมทางภาคใต้ของอังกฤษระหว่าง ค.ศ. ๑๘๓๐-๑๘๓๑ ที่ต้องเผชิญกับปัญหาผลการเก็บเกี่ยวตกตํ่าในระหว่าง ค.ศ. ๑๘๒๙-๑๘๓๐ มีการเผาทำลายเครื่องจักรนวดข้าวและกองฟางของชาวนาที่จ่ายค่าแรงตํ่า นักบวชที่ทำหน้าที่ผู้พิพากษาในท้องถิ่น (Justices of the Peace-JP) ซึ่งตัดสินคดีคนลอบดักจับสัตว์และเจ้าหน้าที่กฎหมายสงเคราะห์คนจนที่เข้มงวดก็ถูกคุกคามข่มขู่ ผลสรุปออกมาชี้ว่าระบบสงเคราะห์คนจนที่ดำเนินอยู่บั่นทอนความมั่งคั่งของประเทศเพราะไปแทรกแซงกฎอุปสงค์อุปทาน วิถีของการช่วยคนจนทำให้นายจ้างกดค่าแรง อีกทั้งสรุปว่าความยากจนเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ คณะกรรมาธิการจึงเสนอแนวทางการออกกฎหมายฉบับใหม่โดยยึดหลักการให้ผู้ยากไร้เข้าอาศัยในบ้านสงเคราะห์ที่ต้องจัดให้มีสภาพยํ่าแย่กว่าสภาวะการครองชีพของแรงงานอิสระข้างนอก และการสงเคราะห์ของรัฐจะให้ได้แต่ในบ้านสงเคราะห์เท่านั้น ไม่มีการให้แก่คนนอกบ้านสงเคราะห์อีกต่อไป การออกกฎหมายสงเคราะห์คนจนฉบับใหม่นอกจากเพื่อลดค่าใช้จ่ายของผู้เสียภาษีคนจนในตำบลต่าง ๆ แล้ว พรรควิกยังหวังผลหาเสียงกับชาวอังกฤษกลุ่มใหม่ที่เพิ่งได้สิทธิออกเสียงเลือกตั้งตามร่างพระราชบัญญัติปฏิรูประบบการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาครั้งใหญ่ (Great Reform Bill*; Reform Act of 1832) ด้วย

 ใน ค.ศ. ๑๘๓๔ รัฐบาลวิลเลียม แลมบ์ ไวส์เคานต์ เมลเบิร์นที่ ๒ (William Lamb, 2ᶰᵈ Viscount Melbourne)* จึงได้ออกพระราชบัญญัติสงเคราะห์คนจนฉบับแก้ไข (Poor Law Amendment Act of 1834) หรือที่เรียกว่ากฎหมายสงเคราะห์คนจนฉบับใหม่ขึ้นโดยได้รับการสนับสนุนจากนักการเมืองทั้งพรรควิก (Whig) และพรรคทอรี (Tory) เพราะทัศนคติการช่วยเหลือคนจนเปลี่ยนไปตั้งแต่เกิดสงครามการปฏิวัติฝรั่งเศส (French Revolutionary Wars)* เรื่อยมาจนถึงสงครามนโปเลียน และแม้กระทั่งหลังยุทธการที่วอเตอร์ลู (Battle of Waterloo) ใน ค.ศ. ๑๘๑๕ เพราะเกิดภาวะเศรษฐกิจตกตํ่าซึ่งส่งผลกระทบต่อพลเมืองทุกชนชั้น

 กฎหมายสงเคราะห์คนจนฉบับใหม่ที่เกิดขึ้นเป็นการลดอำนาจทางการเมืองของชาวไร่ที่มีลูกจ้างซึ่งทำให้งบประมาณที่ใช้จ่ายเพื่อการสงเคราะห์คนจนลดลง กฎหมายฉบับใหม่ที่แม้จะมีชื่อเป็นทางการว่าพระราชบัญญัติฉบับแก้ไขนั้น แท้ที่จริงเป็นการยกเครื่องระบบการสงเคราะห์คนจนก็ว่าได้ โดยยึดหลักการที่ว่าความยากจนของคนงานที่ร่างกายปรกติเกิดจากการหย่อนจริยธรรมและความเกียจคร้านของแต่ละคน ไม่ใช่ว่าโอกาสการได้งานมีน้อยกฎหมายใหม่จึงไม่ประสงค์จะช่วยเหลือคนกลุ่มนี้ต่อไปแต่จะจัดที่พักพอประทังชีพและมอบหมายงานที่น่าเบื่อให้ทำในบ้านสงเคราะห์ เพื่อกระตุ้นให้พวกเขาตัดสินใจออกไปหางานทำข้างนอกมากกว่าที่จะรอคอยการช่วยเหลือ ผู้ที่เข้ามาขอความช่วยเหลือจากรัฐจึงต้องมีสถานะตํ่ากว่าผู้ใช้แรงงานอิสระ อย่างไรก็ดี มีคนชราในหลายท้องที่ที่ยังคงได้รับความช่วยเหลือโดยไม่ต้องเข้าไปพักอาศัยในบ้านสงเคราะห์เพราะความเคลื่อนไหวด้านมนุษยธรรมในคริสต์ศตวรรษ ที่ ๑๙ ช่วยบรรเทาความเข้มงวดของการใช้กฎหมายใหม่ในบางแห่ง และปรากฏการณ์ของการว่างงานในภาคอุตสาหกรรมในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ ชี้ให้เห็นว่าความยากจนไม่ได้เกิดจากความย่อหย่อนในการประพฤติปฏิบัติตนหรือการครองชีพอย่างเกียจคร้านสำมะเลเทเมาหรือการไม่รู้จักอดออมของผู้ใช้แรงงานเสมอไปใน ค.ศ. ๑๘๓๙-๑๘๔๐ คณะกรรมาธิการกฎหมายสงเคราะห์คนจนพบว่าสาเหตุหลักของความยากจน คือโรคภัยไข้เจ็บ ใน ค.ศ. ๑๘๔๒ เอดวิน แชดวิก (Edwin Chadwick) เลขานุการชองคณะกรรมาธิการกฎหมายสงเคราะห์คนจนเขียนรายงานเรื่อง Report on the Sanitary Condition of the Labouring Population of Great Britain ระบุว่าสุขอนามัยของผู้ใช้แรงงานคือสาเหตุสำคัญของการเจ็บป่วย

 กฎหมายสงเคราะห์คนจนฉบับใหม่ซึ่งมุ่งการจัดระบบการช่วยเหลือให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศได้จัดแบ่งพื้นที่ในการดูแลผู้ยากไร้เรียกว่าสหภาพคนจน (Poor Law Union) โดยประกอบด้วยตำบลต่าง ๆ ที่เคยดูแลคนยากจนในเขตของตนอย่างเป็นเอกเทศ มีการยกเลิกความช่วยเหลือแบบที่ผู้ร้องขอการสงเคราะห์ยังพำนักในที่อยู่เดิมของตน และจัดตั้งบ้านสงเคราะห์คนอนาถาของสหภาพซึ่งอาจระบุให้อยูในตำบลใดตำบลหนึ่ง โดยให้บ้านสำหรับบุรุษ สตรี เด็กและคนชราอยู่แยกคนละตำบล มีการตรวจสอบและทดสอบสภาพความยากไร้ผู้เข้ามาขอพึ่งพิงรัฐโดยต้องยอมรับการแยกกันอยู่ของสมาชิกครอบครัวตามเพศและวัยและการแสดงตนว่าไร้ซึ่งทรัพย์สินใด ๆ รัฐบาลได้แต่งตั้งคณะกรรมาธิการขึ้น ๑ ชุดเพื่อดูแลการจัดตั้งสหภาพคนจนในเขตอังกฤษและเวลส์ แต่ละสหภาพมีคณะกรรมการดูแล (board of guardians) ซึ่งประกอบด้วยผู้พิพากษา ศาสนาจารย์ประจำตำบล (parish ministers) และผู้แทนตำบลต่าง ๆ ที่ผู้เสียภาษี (ratepayer) เลือกตั้งเข้าไปทำหน้าที่ดูแลการดำเนินงานของแต่ละสหภาพ อย่างไรก็ดี หลักฐานทางการและงานวรรณกรรมโดยเฉพาะงานประพันธ์ของชาลส์ ดิกเกนส์ (Charles Dickens) สะท้อนให้เห็นว่าคนจนเกลียดชังกฎหมายสงเคราะห์คนจนฉบับใหม่มาก กฎหมายนี้ขยายไปใช้บังคับในไอร์แลนด์ใน ค.ศ. ๑๘๓๘ และในสกอตแลนด์ ใน ค.ศ. ๑๘๔๕ มีการแก้ไขกฎหมายดังกล่าวอีกหลายครั้งเพื่อให้เหมาะสมในการบังคับใช้กับบางท้องที่ เช่น ในเขตอุตสาหกรรมทางเหนือซึ่งเป็นเขตเมืองขนาดใหญ่ที่ผู้ใช้แรงงานมาจากถิ่นฐานต่าง ๆ หรือเพื่อตอบสนองปัญหาที่เกิดจากภาวะเศรษฐกิจตกตํ่าอันอยู่นอกเหนือความสามารถของผู้ใช้แรงงานในการแก้ไข หรือเพื่อให้สอดคล้องกับความจำเป็นในชีวิตของเยาวชน

 ในปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ ทัศนคติของผู้ต้องการ พึ่งพิงรัฐต่อกฎหมายสงเคราะห์คนจนเปลี่ยนไป จากเดิมที่เคยถือว่าการขอสงเคราะห์เป็นสิทธิที่พึงได้รับ มาเป็นเห็นว่ากฎหมายสงเคราะห์คนจนเป็นการประทับตราสังคมที่น่าละอาย (social stigma) ให้แก่พวกตน ดังนั้นจึงหลีกเลี่ยงที่จะขอความช่วยเหลือและหันไปรับสิทธิประโยชน์จากสมาคมเพื่อนพึ่งพา (Friendly Societies) ต่าง ๆ ที่ช่วยสมาชิกยามเจ็บป่วย อุบัติเหตุ วัยชรา หรือเสียชีวิต จากนโยบายประกันสังคมของสหภาพแรงงานต่าง ๆ หรือจากการที่หน่วยงานปกครองท้องถิ่นจัดทำโครงการหางานให้บุรุษทำยามที่อัตราการว่างงานสูง โดยเริ่มจากการที่ใน ค.ศ. ๑๘๘๖ มีการออกเอกสารเวียนเชมเบอร์เลน (Chamberlain Circular) ซึ่งสนับสนุนให้เมืองต่าง ๆ จัดทำโครงการจัดหางานยามที่อัตราการว่างงานสูง และระบุด้วยว่าไม่ประสงค์ให้ผู้ใช้แรงงานต้องเช้าไปเกี่ยวข้องกับหน่วยงานสงเคราะห์คนจนและงานที่จัดหาให้ต้องไม่เป็นการประทับตราแห่งความยากจนแก่ผู้ใช้แรงงาน

 ระบบการสงเคราะห์คนจนตามกฎหมายใหม่ได้ถือปฏิบัติมาจนประมาณ ค.ศ. ๑๙๒๙ ที่การสงเคราะห์คนจนเปลี่ยนไปอยู่ในความดูแลของคณะผู้บริหารมณฑลหรือเคาน์ตี (county) ต่าง ๆ ตามพระราชบัญญัติการปกครองส่วนท้องถิ่น ค.ศ. ๑๙๒๙ (Local Government Act of 1929) ซึ่งคำนึงถึงสถานะของคนยากจนอย่างมีความเข้าใจมากขึ้นอย่างไรก็ดี ตั้งแต่ต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ รัฐบาลพรรคเสรีนิยม (Liberal Party)* ได้ออกกฎหมายปฏิรูปสังคมหลายฉบับที่ให้สวัสดิการแก่ประชาชนจนทำให้กฎหมายสงเคราะห์คนจนค่อย ๆ ถูกแทนที่ด้วยระบบการจัดสวัสดิการของรัฐ เช่น การจัดอาหารฟรีให้แก่นักเรียนใน ค.ศ. ๑๙๐๖ การให้บริการทางการแพทย์ในโรงเรียนใน ค.ศ. ๑๙๐๗ การให้เบี้ยผู้สูงอายุ ใน ค.ศ. ๑๙๐๘ การจัดตั้งหน่วยจัดหางานใน ค.ศ. ๑๙๑๑ และการออกพระราชบัญญัติประกันสังคมแห่งชาติ ค.ศ. ๑๙๑๑ (National Insurance Act, 1911) หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)* ระบบรัฐสวัสดิการได้เอื้อประโยชน์แก่การดำรงชีวิตของประชาชนแทนที่กฎหมายสงเคราะห์คนจน กฎหมายฉบับสำคัญคือ พระราชบัญญัติประกันสุขภาพแห่งชาติ ค.ศ. ๑๙๔๖ (National Health Service Act, 1946) และพระราชบัญญัติการช่วยเหลือแห่งชาติ ค.ศ. ๑๙๔๘ (National Assistance Act, 1948) พระราชบัญญัติฉบับหลังนี้ จึงเป็นการยกเลิกกฎหมายสงเคราะห์คนจนและกำหนดกฎเกณฑ์การให้สวัสดิการด้านต่าง ๆ ซึ่งครอบคลุมประชาชนทั่วไปทั้งหมดแทน.



คำตั้ง
Poor Laws
คำเทียบ
กฎหมายสงเคราะห์คนจน
คำสำคัญ
- กฎหมายข้าว
- กฎหมายสงเคราะห์คนจน
- การจลาจลสวิง
- การปฏิวัติอุตสาหกรรม
- กิลเบิร์ต, ทอมัส
- แชดวิก, เอดวิน
- ดิกเกนส์, ชาลส์
- พรรคทอรี
- พรรควิก
- พรรคเสรีนิยม
- พระราชบัญญัติการช่วยเหลือแห่งชาติ ค.ศ. ๑๙๔๘
- พระราชบัญญัติการปกครองส่วนท้องถิ่น ค.ศ. ๑๙๒๙
- พระราชบัญญัติบรรเทาทุกข์คนจน ค.ศ. ๑๖๖๒
- พระราชบัญญัติประกันสังคมแห่งชาติ ค.ศ. ๑๙๑๑
- พระราชบัญญัติประกันสุขภาพแห่งชาติ ค.ศ. ๑๙๔๖
- พระราชบัญญัติสงเคราะห์คนจน ค.ศ. ๑๖๐๑
- พระราชบัญญัติสงเคราะห์คนจนฉบับแก้ไข
- ภาษีเพื่อคนจน
- มัลทัส, ทอมัส
- เมลเบิร์น, ไวส์เคานต์
- ยุทธการที่วอเตอร์ลู
- ระบบรัฐสวัสดิการ
- ระบบสปีนแฮมแลนด์
- ร่างพระราชบัญญัติปฏิรูประบบการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาครั้งใหญ่
- สกอตแลนด์
- สงครามการปฏิวัติฝรั่งเศส
- สงครามนโปเลียน
- สงครามโลกครั้งที่ ๒
- สมาคมเพื่อนพึ่งพา
- เอกสารเวียนเชมเบอร์เลน
- เอลิซาเบท ๔๓
- เอลิซาเบทที่ ๑, สมเด็จพระราชินีนาถ
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
-
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
-
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
ชาคริต ชุ่มวัฒนะ
บรรณานุกรมคำตั้ง
แหล่งอ้างอิง
-